คำสรรพนาม คือคำที่ใช้แทนคำนาม ที่ผู้พูดหรือผู้เขียนได้กล่าวแล้ว หรือเป็นที่เข้าใจกันระหว่าง ผู้ฟังและผู้พูด เพื่อไม่ต้องกล่าวคำนามซ้ำ ดังจะเห็นต่อไปนี้ นายสิริเพื่อนของนายประสิทธิ์กล่าวแก่นายประสิทธิ์ว่า "ระหว่างทางไปโรงเรียน ขอให้นายประสิทธิ์แวะที่วัด เรียนหลวงปู่ของนายสิริ ด้วยว่า นายสิริขอให้นายประสิทธิ์มารับหนังสือไปให้ครูของนายสิริที่โรงเรียน" ข้อความที่ยกมานี้จะไม่มีใช้ในภาษา ตามปกติใช้แทนชื่อบุคคลที่ได้กล่าวไว้ดังต่อไปนี้ นายสิริเพื่อของนายประสิทธิ์กล่าวว่า "ระหว่างทางไปโรงเรียน ขอให้คุณแวะที่วัด เรียนหลวงปู่ของผมด้วยว่า ผมขอให้คุณมารับหนังสือไปให้ครูของผมที่โรงเรียน" คำที่ขีดเส้นใต้ เป็นคำที่ใช้แทนคำนาม คือ นายประสิทธิ์และนายสิริ เรียกว่า คำสรรพนาม ในการสื่อความหมาย (สื่อสาร) ระหว่างบุคคล เราจะมีผู้พูด (หรือผู้เขียน) ผู้ฟัง (หรือผู้อ่าน) และบุคคลที่เป็นผู้ที่พูดถึงหรือคิดไปถึง ผู้พูด คือ บุรุษที่ 1 ผู้ฟัง คือ บุรุษที่ 2 บุคคลหรือสิ่งที่กล่าวถึงหรือคิดไปถึง คือ บุรุษที่ 3เราจะใช้คำสรรพนามแสดงความหมายว่าเป็นบุรุษที่ 1 หรือบุรุษที่ 2 หรือบุรุษที่ 3 ได้ ดังจะเห็นต่อไปนี้ ฝ่ายชายแก่ ก็คำนับลานายบ้านไปถึงที่ไต้ซุ่นทำนา พบไต้ซุ่นก็ร้องไห้ ไต้ซุ่นถามว่า "ท่าน จะไปไหน" ชายแก่ตอบว่า "ข้าพเจ้า เห็นบิดามารดาของท่านทำโทษท่านครั้งไรก็มีความเวทนาครั้นจะช่วย ท่านก็ช่วยไม่ได้ ได้แต่มาเยี่ยมท่าน" ไต้ซุ่นได้ฟังดังนั้น จึงเล่าว่า "บิดาเกณฑ์ให้ข้าพเจ้าทำนาคนเดียว 50 ไร่" ชายแก่คิดว่า "บิดาของเขาไม่ยุติธรรมแก่เขาเลย" คิดดั้งนั้นแล้วก็ไปเล่าให้นายบ้านฟัง แล้วชายแก่กลับไปบ้านก็พาบริวารของตนหลายคนไปช่วยไต้ซุ่นทำนา คำที่ขีดเส้นใต้นั้น เป็นคำสรรพนามทั้งสิ้น ข้าพเจ้า เป็นคำสรรพนามบุรุษที่ 1 ท่าน เป็นคำสรรพนามบุรุษที่ 2 เขา เป็นคำสรรพนามบุรุษที่ 3 ตน เป็นคำสรรพนามบุรุษที่ 3 ในข้อความที่ได้ยกมาข้างต้นนั้น มีคำนามที่เป็นชื่อเฉพาะคือ ไต้ซุ่น ชาย เป็นคำที่แสดง ความหมายถึงบุคคล และ นา เป็นคำแสดงความหมายถึงวัตถุหรือสิ่งของ คำนามที่ผู้เขียนกล่าวถึง เพื่อให้ผู้อ่านคิดไปถึงทั้งหมดถือว่าเป็นบุรุษที่ 3 ข้อสังเกต ในภาษาไทยเราอาจใช้คำนามในการสนทนา หรือเขียนข้อความให้เกิดความหมาย เช่น บุรุษที่ 1 หรือบุรุษที่ 2 หรือบุรุษที่ 3 ได้ดังตัวอย่างต่อไปนี้ ผู้เขียนขอเรียนให้ผู้อ่านทราบว่า หนังสือเล่มนี้ผู้เขียนได้ใช้เวลาคนคว้าประมาณ 1 ปี ในข้อความข้างบนนั้น ผู้เขียน เป็ฯคำนาม เป็นบุรุษที่ 1 ผู้อ่าน เป็ฯคำนาม เป็นบุรุษที่ 2 หนังสือ เป็ฯคำนาม เป็นบุรุษที่ 3 จากตัวอย่างข้างล่างต่อไปนี้ จะเห็นว่าภาษาไทยเราอาจใช้คำนามเป็นคำแทนผู้พูด ผู้ฟัง และผู้กล่าวถึงได้ แดง พ่อขอให้แดงอย่าส่งเสียงดังนัก พ่อ เป็นบุรุษที่ 1 แดง เป็นบุรุษที่ 2 แดงไปบอกครูใหญ่ว่า พ่อจะไปพบครูใหญ่ได้พรุ่งนี้ ครูใหญ่ เป็นบุรุษที่ 3 นอกจากนี้คำสรรพนามในภาษาไทยคำเดียวกันอาจใช้ให้มีความหมายเป็นบุรุษที่ 1 หรือบุรุษที่ 2 หรือบุรุษที่ 3 ได้ ในประโยคต่างๆ กันดังตัวอย่าง เขาไม่ชอบให้ตัวเล่นกับเขาอย่างนี้นะ เขา ใช้แทนบุรุษที่ 1 ทั้งสองคำ พี่สมไม่ชอบให้ใครเข้าไปในห้องหนังสือ เขากลัวจะไปทำให้ห้องเขารก เขา เป็นคำสรรพนามใช้เป็นบุรุษที่ 3 แทนพี่ ท่านจะต้องการเครื่องดื่มเดี๋ยวนี้ไหมครับ ท่าน เป็นคำสรรพนามใช้เป็นบุรุษที่ 2 นายยวง โปรดยกเครื่องดื่มไปให้ท่านเดี๋ยวนี้ ท่าน เป็นคำสรรพนามใช้เป็นบุรุษที่ 3 ข้าพเจ้าทำงานเพื่อตนเอง ตน ในประโยคนี้เป็นบุรุษที่ 1 คุณทำงานเพื่อตนเอง ตน ในประโยคนี้เป็นบุรุษที่ 2 |
การใช้คำสรรพนามในการสื่อสาร 1. สรรพนามแทนผู้พูด ผู้ฟัง และผู้ที่กล่าวถึงหรือคิดถึง สรรพนามที่ใช้แทนผู้ส่งสาร (คือผู้พูด หรือผู้เขียน) นับเป็นบุรุษที่ 1 เช่น ฉัน ข้าพเจ้า กระผม ดิฉัน กู อาตมา เรา ข้าพระพุทธเจ้า ฯลฯ สรรพนามที่ใช้แทนผู้รับสาร (คือผู้ฟัง หรือผู้อ่าน) นับเป็นบุรุษที่ 2 เช่น เธอ ท่าน คุณ ใต้เท้า มึง พระคุณเจ้า ฝ่าพระบาท ฯลฯ สรรพนามที่ใช้แทนบุคคลหรือสิ่งที่กล่าวถึง หรือคิดไปถึง นับเป็นบุรุษที่ 3 เช่น เขา พวกเขา มัน 2. สรรพนามใช้ชี้ระยะ คำสรรพนามที่กำหนดให้รู้ความ ใกล้ ไกล ของนามที่ผู้พูดกับผู้ฟังเข้าใจกันได้ ได้แก่คำว่า นี่ นั่น โน่น นี้ โน้น (โน่นไกลกว่านั่น นี่ใกล้ที่สุด) เช่น นี่ คือเพื่อนเก่าของฉัน โน่น เป็นวัดเก่า นั่น ไม่มีราคา 3. สรรพนามใช้ถาม คำสรรพนามที่มีความหมายเป็นคำถาม ได้แก่คำว่า ใคร อะไร ผู้ใด สิ่งใด อันไหน เช่น ใครต้องการน้ำชาบ้าง เขามาเรียกใคร หนูแดงกินอะไร อะไรเปื้อนรองเท้า4. สรรพนามบอกความไม่เจาะจง ใช้แทนนามซึ่งไม่กำหนดแน่นอนลงไปว่าเป็นสิ่งนั้น สิ่งนี้ ได้แก่คำว่า ใคร อะไร ผู้ใด สิ่งใด ฉันไม่รู้ว่า อะไรตกลงมาโดนเสื้อ ฉันไม่ทราบว่าใครเขียนจดหมายฉบับนี้ 5. สรรพนามบอกความชี้ซ้ำ คำสรรพนามที่ใช้แทนคำนามที่กล่าวไปแล้วโดยชี้ซ้ำอีกครั้งหนึ่ง อาจแสดงความหมายรวมหรือ แสดงความหมายแยกต่อนามที่กล่าวแล้ว ได้แก่คำว่า ต่าง บ้าง กัน เช่น นักเรียนต่างก็ทำงานของตน (ความหมายแยก หมายถึงนักเรียนแต่ละคน) กรรมกรเหล่านั้น บ้างก็เป็นหญิง บ้างก็เป็นชาย (ความหมายแยก) สุนัขกัดกัน (ความหมายรวม สุนัขมีมากกว่า 1 ตัว) 6. สรรพนามเชื่อมประโยค มีคำสรรพนามจำพวกหนึ่งที่ทำหน้าที่แทนคำนามอันเป็นที่เข้าใจแก่ผู้พูดและผู้ฟัง ผู้เขียน และผู้อ่าน (ผู้ส่งสาร ผู้รับสาร) ในขณะเดียวกันทำหน้าที่เชื่อมประโยค 2 ประโยค ให้ความเกี่ยวพันกัน คำสรรพนามชนิดนี้ได้แก่คำ ที่ ซึ่ง อัน ผู้ เช่น ฉันชอบบ้านที่ตั้งอยู่บนเนิน ที่ แทนคำนาม บ้าน และเชื่อมประโยค ฉันชอบบ้าน กับประโยค (บ้าน) ตั้งอยู่บนเนิน แม่ทัพยกย่องทหารซึ่งรักษาระเบียบวินัย ซึ่ง แทนคำนาม ทหาร และเชื่อมประโยค แม่ทัพยกย่อง ทหาร กับประโยค (ทหาร) รักษาระเบียบวินัย โคลงบทแรกอันเป็นบทไพเราะที่สุดเป็นโคลงสี่สุภาพ อัน แทนคำนาม โคลง และเชื่อมประโยคโคลงบทแรก เป็นโคลงสี่สุภาพ กับ (โคลงบทแรก) เป็นบทไพเราะ ที่สุด บุคคลผู้เสียสละเพื่อชาติควรได้รับการยกย่อง ผู้ แทนคำนาม บุคคล และเชื่อมประโยค บุคคลเสียสละ เพื่อชาติ กับประโยค บุคคลควรได้รับการยกย่อง 7. สรรพนามใช้เน้นนามตามความรู้สึกของผู้พูด เช่น พระภิกษุท่านออกบิณฑบาตทุกเช้า ขโมยมันหักกิ่งไม้เสียด้วย ตาสมแกไม่ชอบเสียงดัง คุณพ่อท่านสงสารผม ควรสังเกตว่า สรรพนามในประโยคข้างบนนั้น ถ้าเราตัดออกเสีย ความหมายของประโยคก็ไม่เปลี่ยนไป แต่ผู้ฟังจะไม่ได้รับความรู้สึกของผู้พูด เช่น คำ ท่าน แสดงความยกย่อง คำ มันแสดงความดูหมิ่น และคำ แก แสดงความสนิทสนม |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น