วันจันทร์ที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2556

ก เอ๋ย ก.ไก่ - ฮ นกฮูก ตาโต

 [Alphabet+blackboard.jpg]

เอ๋ย กไก่ ไข่ อยู่ในเล้า ขวด ของเรา ควาย เข้านา

คน ขึงขัง ระฆัง ข้างฝา งู ใจกล้า จาน ใช้ดี

ฉิ่ง ตีดัง ช้าง วิ่งหนี โซ่ ล่ามที เฌอ คู่กัน

หญิง โสภา ชฎา สวมพลัน ปฏัก ปักไว้* (หุนหัน**) ฐาน เข้ามารอง

นางมณโฑ หน้าขาว ผู้เฒ่า เดินย่อง เณร ไม่มอง เด็ก ต้องนิมนต์

เต่า หลังตุง ถุง แบกขน ทหารอดทน ธง คนนิยม

หนู ขวักไขว่ ใบไม้ ทับถม ปลา ตากลม ผึ้ง ทำรัง

ฝา ทนทาน พาน วางตั้ง ฟัน สะอาดจัง สำเภา กางใบ

ม้า คึกคัก ยักษ์ เขี้ยวใหญ่ เรือพายไป ลิง ไต่ราว

แหวน ลงยา ศาลา เงียบเหงา ฤาษี หนวดยาว เสือ ดาวคะนอง

หีบ ใส่ผ้า จุฬา ท่าผยอง อ่าง เนืองนอง นกฮูก ตาโต



* แบบที่ท่องตอนเด็กๆ รู้สึกว่าเขาไม่อยากให้ใช้คำว่าหุนหัน เพราะแฝงด้วยความโกรธ ความรุนแรง
** ฉบับประชาช่าง


         คิด ถึง ก เอ๋ย ไก่... ท่องแล้วนึกถึงตอนเป็นเด็กๆ อยู่อนุบาลใส่กระโปรงสีแดง รู้สึกภูมิใจที่คนไทยเรา มีตัวอักษรไทย มีภาษาไทยใช้ และภาษาำไทยเราก็เจริญมาก มีกาพย์ กลอน เขียนได้วิจิตร ไพเราะกว่า ของฝรั่งเยอะ ที่พึ่งสำหรับการเขียนของฉันทุกวันนี้ ก็คือ ราชบัณฑิตยสถาน ช่วยให้สะกดถูกต้อง

        แต่ ท่านรู้ไหมว่า ก ไก่ แบบ ที่เราท่องนี้ เป็นแบบของ บริษัท ประชาช่าง จำกัด พิมพ์ขึ้นตั้งแต่สมัย พ.ศ. 2490 ส่วนผู้ใดแต่งนั้น ยังไม่มีผู้ใดทราบ แต่ เอนก นาวิกมูล ได้เขียนประวัติ ก ไก่ ไว้ ในหนังสือเรื่อง แกะรอย ก ไก่ เมื่อปี พ.ศ. 2536


(คลิกดูภาพใหญ่) 

วันภาษาไทยแห่งชาติ


- ความเป็นมาของวันภาษาไทยแห่งชาติ
           สืบเนื่องจากคณะกรรมการรณรงค์เพื่อภาษาไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ตระหนักในคุณค่าและความสำคัญของภาษาไทย และมีความห่วงใยในปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นต่อภาษาไทย รวมถึงเพื่อกระตุ้นและปลุกจิตสำนึกให้คนไทยทั้งชาติได้ตระหนักถึงคุณค่าและ ความสำคัญของภาษาไทย ตลอดจนร่วมมือกันทำนุบำรุง ส่งเสริม และอนุรักษ์ภาษาไทยให้คงอยู่คู่ชาติไทยตลอดไป จึงได้เสนอขอให้รัฐบาลประกาศให้วันที่ 29 กรกฎาคมของทุกปี เป็น วันภาษาไทยแห่งชาติ เช่นเดียวกับวันสำคัญอื่น ๆ ที่รัฐบาลได้จัดให้มีมาก่อนแล้ว เช่น วันวิทยาศาสตร์, วันสื่อสารแห่งชาติ เป็นต้น และคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันอังคารที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2542 เห็นชอบให้วันที่ 29 กรกฎาคมของทุกปี เป็นวันภาษาไทยแห่งชาติ  

- เหตุผลที่เลือกวันที่ 29 กรกฎาคม เป็นวันภาษาไทยแห่งชาติ
             สำหรับเหตุผลที่เลือกวันที่ 29 กรกฎาคม เป็น วันภาษาไทยแห่งชาติ นั้นเพราะวันดังกล่าว ตรงกับวันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินไปเป็นประธาน และทรงร่วมอภิปรายในการประชุมทางวิชาการของชุมนุมภาษาไทย ที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณ ห้องประชุมคณะอักษรศาสตร์ เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2505 ทรงเปิดอภิปรายในหัวข้อ "ปัญหาการใช้คำไทย" โดยพระองค์ทรงดำเนินการอภิปรายและทรงสรุปการอภิปราย ที่แสดงถึงพระปรีชาสามารถและความสนพระราชหฤทัยรวมถึงความห่วงใยในภาษาไทย ซึ่งเป็นที่ประทับใจกับผู้ร่วมเข้าประชุมในครั้งนั้นเป็นอย่างยิ่ง

          สำหรับ พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในครั้งนั้น มีใจความตอนหนึ่งว่า "เรามีโชคดีที่มีภาษาของตนเองแต่โบราณกาล จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะรักษาไว้ ปัญหาเฉพาะในด้านรักษาภาษาก็มีหลายประการ อย่างหนึ่งต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในทางออกเสียง คือให้ออกเสียงให้ถูกต้องชัดเจน อีกอย่างหนึ่งต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในวิธีใช้ หมายความว่าวิธีใช้คำมาประกอบประโยค นับเป็นปัญหาที่สำคัญ ปัญหาที่สามคือความร่ำรวยในคำของภาษาไทย ซึ่งพวกเรานึกว่าไม่ร่ำรวยพอ จึงต้องมีการบัญญัติศัพท์ใหม่มาใช้... สำหรับคำใหม่ที่ตั้งขึ้นมีความจำเป็นในทางวิชาการไม่น้อย แต่บางคำที่ง่ายๆ ก็ควรจะมี ควรจะใช้คำเก่าๆ ที่เรามีอยู่แล้ว ไม่ควรจะมาตั้งศัพท์ใหม่ให้ยุ่งยาก..."

          นับเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวในประวัติศาสตร์ของวงการภาษาไทย ที่ได้รับพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณดังกล่าว ซึ่งในโอกาสต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังได้ทรงแสดงความสนพระราชหฤทัย และความห่วงใยในภาษาไทยอีกหลายโอกาส อย่างในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2512 ที่ได้ทรงมีพระบรมราโชวาทตอนหนึ่งว่า "ใน ปัจจุบันนี้ปรากฏว่า ได้มีการใช้คำออกจะฟุ่มเฟือย และไม่ตรงกับความหมายอันแท้จริงอยู่เนืองๆ ทั้งออกเสียงก็ไม่ถูกต้องตามอักขรวิธี ถ้าปล่อยให้เป็นไปดังนี้ ภาษาของเราก็มีแต่จะทรุดโทรม ชาติไทยเรามีภาษาของเราใช้เองเป็นสิ่งอันประเสริฐอยู่แล้ว เป็นมรดกอันมีค่าตกทอดมาถึงเราทุกคนจึงมีหน้าที่จะต้องรักษาไว้ ฉะนั้นจึงขอให้บรรดานิสิตและบัณฑิต ตลอดจนครูบาอาจารย์ได้ช่วยกันรักษาและส่งเสริมภาษาไทย ซึ่งเป็นอุปกรณ์และหลักประกันเพื่อความเจริญวัฒนาของประเทศชาติ"

          นอก จากนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ยังมีพระปรีชาญาณและพระอัจฉริยภาพในการใช้ภาษาไทย ทรงรอบรู้ปราดเปรื่องถึงรากศัพท์ของคำไทย คือ ภาษาบาลีและสันสกฤต ทรงพระวิริยอุตสาหะแปลและเรียบเรียงวรรณกรรมภาษาต่างประเทศเป็นภาษาไทยที่ สมบูรณ์ด้วยลักษณะวรรณศิลป์ มีเนื้อหาสาระที่มีคุณค่า เป็นคติในการเสียสละเพื่อส่วนรวม และเป็นแบบอย่างแก่ประชาชนในการใช้ภาษาไทย ดังจะเห็นได้จากพระราชนิพนธ์แปลเรื่องนายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระ ติโต พระราชนิพนธ์แปลบทความเรื่องสั้น ๆ หลายบท และพระราชนิพนธ์เรื่อง พระมหาชนก เป็นต้น

- วัตถุประสงค์ในการจัดวันภาษาไทยแห่งชาติ มีดังต่อไปนี้
           1. เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ผู้ทรงเป็นนักปราชญ์และนักภาษาไทย รวมทั้งเพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ที่ได้ทรงแสดงความห่วงใย และพระราชทานแนวคิดต่างๆ เกี่ยวกับการใช้ภาษาไทย

           2. เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในมหามงคลสมัยเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ ในวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2542

           3. เพื่อกระตุ้นและปลุกจิตสำนึกของคนไทยทั้งชาติ ให้ตระหนักถึงความสำคัญและคุณค่าของภาษาไทย ตลอดจนร่วมมือร่วมใจกันทำนุบำรุงส่งเสริม และอนุรักษ์ภาษาไทย ซึ่งเป็นเอกลักษณ์และเป็นสมบัติวัฒนธรรมอันล้ำค่าของชาติ ให้คงอยู่คู่ชาติไทยตลอดไป

           4. เพื่อเพิ่มพูนประสิทธิภาพในการใช้ภาษาไทย ทั้งในวงวิชาการและวิชาชีพ รวมทั้งเพื่อยกมาตรฐานการเรียนการสอนภาษาไทยในสถานศึกษาทุกระดับ ให้มีสัมฤทธิผลยิ่งขึ้น

           5. เพื่อเปิดโอกาสให้หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐฯ และเอกชนทั่วประเทศ มีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมที่หลากหลาย เพื่อเผยแพร่ความรู้ภาษาไทยในรูปแบบต่างๆ ไปสู่สาธารณชน ทั้งในฐานะที่เป็นภาษาประจำชาติ และในฐานะที่เป็นภาษาเพื่อการสื่อสารของทุกคนในชาติ

- ประโยชน์ที่คาดว่าได้รับจากการมีวันภาษาไทยแห่งชาติ 
           1. วันภาษาไทยแห่งชาติ จะทำให้หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐฯ และเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน่วยงานในกระทรวงศึกษาธิการ และทบวงมหาวิทยาลัย ตระหนักในความสำคัญของภาษาไทย และร่วมกันจัดกิจกรรมเพื่อกระตุ้นเตือน เผยแพร่ และเน้นย้ำให้ประชาชนเห็นความสำคัญของ "ภาษาประจำชาติ" ของคนไทยทุกคน และร่วมมือกันอนุรักษ์การใช้ภาษาไทยให้มีความถูกต้องงดงามอยู่เสมอ

           2. บุคคลในวงวิชาชีพต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้ภาษาไทย โดยเฉพาะในวงการศึกษา และวงการสื่อสาร ช่วยกันกวดขันดูแลให้การใช้ภาษาไทยเป็นไปอย่างถูกต้องเหมาะสม มิให้ผันแปรเปลี่ยนแปลง จนเกิดความเสียหายแก่คุณลักษณะของภาษาไทยอันเป็นเอกลักษณ์ของชาติ

           3. ผลสืบเนื่องในระยะยาว คาดว่าปวงชนชาวไทยทั่วประเทศจะตื่นตัวและสนใจที่จะร่วมกันฟื้นฟู ทำนุบำรุง ส่งเสริมและอนุรักษ์ภาษาไทย อันเป็นเอกลักษณ์และสมบัติวัฒนธรรมที่สำคัญของชาติให้ดำรงคงอยู่คู่ชาติไทย ตลอดไป

วันอาทิตย์ที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2556

สาเหตุที่ทำให้ภาษาต่างประเทศเข้ามาปะปนในภาษาไทย

   การติดต่อสัมพันธ์กันทำให้ภาษาต่างประเทศเข้ามาปะปนอยู่ในภาษาไทย  ด้วยสาเหตุหลายประการ พอสรุปได้ดังนี้
 1.  ความสัมพันธ์กันทางเชื้อชาติและถิ่นที่อยู่อาศัยตามสภาพภูมิศาสตร์
ประเทศไทยมีอาณาเขตติดต่อหรือใกล้เคียงกันกับมิตรประเทศกับประเทศต่าง ๆ หลายประเทศได้แก่ พม่า ลาว มาเลเซีย เขมร มอญ  ญวน จึงทำให้คนไทยที่อยู่อาศัยบริเวณชายแดนมีความเกี่ยวพันกับชนชาติต่าง ๆ โดยปริยาย มีการเดินทางข้ามแดนไปมาหาสู่ซึ่งกันและกัน มีการแต่งงานกันเป็นญาติกัน จึงเป็นสาเหตุสำคัญให้ภาษาของประเทศเหล่านั้นเข้ามาปะปนอยู่ในภาษาไทย
2.  ความสัมพันธ์กันทางด้านประวัติศาสตร์
ชนชาติไทยเป็นชนชาติที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน มีการอพยพโยกย้ายของคนไทยเข้ามาอยู่ในถิ่น  ซึ่งชนชาติอื่นเคยอาศัยอยู่ก่อน  หรือมีการทำศึกสงครามกับชนชาติอื่น  มีการกวาดต้อนชนชาติอื่น เข้ามาเป็นเชลยศึก  หรือชนชาติอื่นอพยพเข้ามาอยู่ ในแผ่นดินไทยด้วยเหตุผล ต่าง ๆ และอาจจะกลายเป็ นคนไทยในที่สุด ผลที่ตามมาก็คือคนเหล่านั้น ได้นำถ้อยคำภาษาเดิม ของตนเองมาใช้ปะปนกับ ภาษาไทย   
3.  ความสัมพันธ์กันทางด้านการค้า
จากหลักฐานทางด้านประวัติศาสตร์ ชนชาติไทยมีการติดต่อค้าขาย แลกเปลี่ยนสินค้ากับชนชาติต่าง ๆ มาเป็นเวลาอันยาวนาน เช่น ชาวจีน ชาวโปรตุเกส ฝรั่งเศส อังกฤษ ฮอลันดา ตลอดถึงญี่ปุ่น ยิ่งปัจจุบันการค้าขายระหว่างประเทศมีความสำคัญมากขึ้น มีการใช้ภาษา-ต่างประเทศในวงการธุรกิจการค้ามากขึ้น คำภาษาต่างประเทศมีโอกาสเข้ามาปะปนอยู่ในภาษาไทยได้ตลอดเวลาไม่มีวันสิ้นสุด
4.  ความสัมพันธ์ทางด้านศาสนา
คนไทยมีเสรีภาพในการยอมรับนับถือศาสนามาเป็นเวลาช้านาน เมื่อยอมรับนับถือศาสนาใดก็ย่อมได้รับถ้อยคำภาษาที่ใช้ในคำสอน หรือคำเรียกชื่อต่าง ๆ ในทางศาสนาของศาสนานั้น ๆ มาปะปนอยู่ในภาษาไทยด้วย เช่น ศาสนาพราหมณ์ใช้ภาษาสันสกฤต ศาสนาพุทธใช้ภาษาบาลี ศาสนาอิสลามใช้ภาษาอาหรับ และศาสนาคริสต์ใช้ภาษาอังกฤษ ดังนั้นภาษาต่าง ๆ ที่ใช้ ในทางศาสนาก็จะเข้ามาปะปนในภาษาไทยด้วย
5.  ความสัมพันธ์ทางด้านวัฒนธรรมและประเพณี
เมื่อชนชาติต่าง ๆ เข้ามาสัมพันธ์ติดต่อกับชนชาติไทย หรือเข้ามาตั้งหลักแหล่งอยู่ในประเทศไทย ย่อมนำเอาวัฒนธรรมและประเพณีที่เคยยึดถือปฏิบัติอยู่ในสังคมเดิมของตนมาประพฤติปฏิบัติในสังคมไทย นาน ๆ เข้าถ้อยคำภาษาที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมและประเพณีเหล่านั้น ก็กลายมาเป็นถ้อยคำภาษาที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของคนไทยมากขึ้น จนถึงปัจจุบันการหยิบยืมคำจากภาษาอื่นมาใช้ในการสื่อสารยังไม่มีวันสิ้นสุด ตราบใดที่เรายังติดต่อ สัมพันธ์ กับชาวต่างชาติ การหยิบยืมภาษาต่างประเทศมาใช้ในการสื่อสารจะต้องคงมีตลอดไป ภาษาไทยหยิบยืมภาษาบาลี ภาษาสันสกฤต ภาษาเขมร เข้ามาใช้ในการติดต่อสื่อสาร ทั้งในส่วนของรูปคำและวิธีการสร้างคำใหม่จำนวนมากมาย เป็นเวลายาวนานจนคนไทยส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีความรู้สึกว่าเป็นคำที่ยืมมาจากภาษาต่างประเทศ  ภาษาอังกฤษเป็นภาษาสากลในการติดต่อสื่อสารจึงเป็นภาษา ต่างประเทศที่เข้ามามี อิทธิพลต่อคนไทยมากที่สุด    

การใช้วัจนภาษาในการสื่อสาร

1. ความชัดเจนและถูกต้อง 
กล่าวคือ  ต้องเป็นภาษาที่เข้าใจตรงกัน  ทั้งผู้รับสาร  และ 
ผู้ส่งสาร  และถูกต้องตามกฎเกณฑ์และเหมาะสมกับวัฒนธรรมในการใช้ภาษาไทย ดังนี้
1.1 ลักษณะของคำ   หน้าที่ของคำ  ตำแหน่งของคำ   และความหมายของคำ ซึ่งความหมายของคำมีทั้งความหมายตรง  และความหมายแฝง
1.2 การเขียนและการออกเสียงคำ  ในการเขียนผู้ส่งสารต้องระมัดระวังเรื่องสะกดการันต์  ในการพูดต้องระมัดระวังเรื่องการออกเสียง  ต้องเขียนและออกเสียงถูกต้อง
1.3 การเรียบเรียงประโยค  ผู้ส่งสารจำเป็นต้องศึกษาโครงสร้างของประโยคเพื่อ  วางตำแหน่งของคำในประโยคให้ถูกต้อง  ถูกที่  ไม่สับสน 


2. ความเหมาะสมกับบริบทของภาษา 
เพื่อให้การสื่อสารบรรลุเป้าหมาย  ผู้ส่งสารต้องคำนึงถึง
2.1 ใช้ภาษาให้เหมาะกับลักษณะการสื่อสาร  เหมาะกับเวลาและสถานที่  โอกาส  และบุคคล  ผู้ส่งสารต้องพิจารณาว่าสื่อสารกับบุคคล  กลุ่มบุคคล  มวลชน  เพราะขนาดของกลุ่มมีผลต่อการเลือกใช้ภาษา 
2.2 ใช้ภาษาให้เหมาะกับลักษณะงาน  เช่น  งานประชาสัมพันธ์  งานโฆษณา  งานประชุม  ฯลฯ 
2.3 ใช้ภาษาให้เหมาะสมกับสื่อ  ผู้ส่งสารจะต้องรู้จักความต่างของสื่อและความต่าง 
ของภาษาที่ใช้กับแต่ละสื่อ   ใช้ภาษาให้เหมาะสมกับผู้รับสารเป้าหมาย  ผู้รับสารเป้าหมายได้แก่  กลุ่มผู้รับสารเฉพาะที่ผู้ส่งสารคาดหวังไว้  ผู้ส่งสารต้องวิเคราะห์ผู้รับสาร ที่เป็นเป้าหมายของการสื่อสาร  และเลือกใช้ภาษาให้เหมาะสมกับผู้รับสารนั้น ๆ
 

ภาษาที่ใช้ในการสื่อสาร

1. วัจนภาษา (verbal language) 
    

วัจนภาษา  หมายถึง  ภาษาถ้อยคำ  ได้แก่  คำพูดหรือตัวอักษรที่กำหนดใช้ร่วมกันในสังคม  ซึ่งหมายรวมทั้งเสียง  และลายลักษณ์อักษร  ภาษาถ้อยคำเป็นภาษาที่มนุษย์สร้างขึ้นอย่างมีระบบ  มีหลักเกณฑ์ทางภาษา  หรือไวยากรณ์ซึ่งคนในสังคมต้องเรียนรู้และใช้ภาษาในการฟัง  พูด  อ่าน  เขียนและคิด การใช้วัจนภาษาในการสื่อสารต้องคำนึงถึงความชัดเจนถูกต้องตามหลักภาษา  และความเหมาะสมกับลักษณะ  การสื่อสาร  ลักษณะงาน  เป้าหมาย  สื่อและผู้รับสาร 
วัจนภาษาแบ่งออกเป็น  2  ชนิด  คือ 


ภาษา คือ  สัญลักษณ์ที่กำหนดขึ้นเพื่อใช้เป็นเครื่องมือที่สำคัญที่สุดในการสื่อความเข้าใจระหว่างกันของคนในสังคม   ช่วยสร้างความเข้าใจอันดีต่อกัน  ช่วยสร้างความสัมพันธ์ของคน ในสังคม  ถ้าคนในสังคมพูดกันด้วย ถ้อยคำที่ดีจะช่วยให้คนในสังคมอยู่กันอย่างปกติสุข  ถ้าพูดกันด้วยถ้อยคำไม่ดี   จะทำให้เกิดความบาดหมางน้ำใจกัน    ภาษาจึงมีส่วนช่วยสร้างมนุษยสัมพันธ์ ของคนในสังคม   ภาษาเป็นสมบัติของสังคม ภาษาที่ใช้ในการสื่อสารมี  2  ประเภท  คือ  วัจนภาษาและอวัจนภาษา


1.  ภาษาพูด  ภาษาพูดเป็นภาษาที่มนุษย์เปล่งเสียงออกมาเป็นถ้อยคำเพื่อสื่อสารกับผู้อื่น  นักภาษาศาสตร์ถือว่าภาษาพูดเป็นภาษาที่แท้จริงของมนุษย์  ส่วนภาษาเขียนเป็นเพียงวิวัฒนาการขั้นหนึ่งของภาษาเท่านั้น  มนุษย์ได้ใช้ภาษาพูดติดต่อสื่อสารกับผู้อื่นอยู่เสมอ  ทั้งในเรื่องส่วนตัว  สังคม  และหน้าที่การงาน  ภาษาพูดจึงสามารถสร้างความรัก  ความเข้าใจ  และช่วยแก้ไขปัญหา 
ต่าง ๆ  ในสังคมมนุษย์ได้มากมาย  


 2.  ภาษาเขียน  ภาษาเขียนเป็นภาษาที่มนุษย์ใช้อักษรเป็นเครื่องหมายแทนเสียงพูดในการสื่อสาร  ภาษาเขียนเป็นสัญลักษณ์ของการพูด  ภาษาเขียนนั้นเป็นสิ่งที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้นมาเพื่อใช้บันทึกภาษาพูด  เป็นตัวแทนของภาษาพูดในโอกาสต่าง ๆ  แม้นักภาษาศาสตร์จะถือว่าภาษาเขียนมิใช่ภาษาที่แท้จริงของมนุษย์   แต่ภาษาเขียนเป็นเครื่องมือสำคัญในการสื่อสารของมนุษย์  มาเป็นเวลาช้านาน  มนุษย์ใช้ภาษาเขียนสื่อสารทั้งในส่วนตัว  สังคม  และหน้าที่การงาน  ภาษาเขียนสร้างความรัก  ความเข้าใจ  และช่วยแก้ปัญหาต่าง ๆ  ในสังคมมนุษย์ได้มากมายหากมนุษย์รู้จักเลือกใช้ให้เหมาะสมกับบุคคล  โอกาส  และสถานการณ์